ที่มาโครงการ

ความเป็นมา
ยุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ คือ การพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโครงการตามภารกิจ และยุทธศาสตร์ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๐ -๒๕๕๕) ตามยุทธศาสตร์ที่ ๒ ที่ระบุเกี่ยวกับการตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมให้คนไทยได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ทั้งที่เป็นวิทยาการสมัยใหม่ วัฒนธรรม และภูมิปัญญา ส่งเสริมให้จัดการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ และปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กำหนดนโยบายในการดำเนินงานด้านแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมไว้ ๓ แนวทาง คือ
๑. แนวทางการจัดตั้ง เป็นการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมต้นแบบในระดับชาติ ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้บริหารจัดการและดำเนินการเอง ได้แก่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หอไทยนิทัศน์
๒. แนวทางการสนับสนุน เป็นแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติสนับสนุนให้ชุมชน องค์กร หรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้จัดตั้งแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมด้วยตนเอง โดยสนับสุนนในเรื่องของงบประมาณการจัดตั้งบางส่วน หรือให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ ได้แก่ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน
๓. แนวทางการส่งเสริมเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เป็นแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเห็นว่า ปัจจุบันมีการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก มีทั้งจัดตั้งโดยบุคคล ชุมชน องค์กร และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยแต่ละแห่งมีการบริหารจัดการและดำเนินงานที่เป็นอิสระต่อการ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงดำเนินนโยบายส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อให้แหล่งเรียนรู้ แต่ละแห่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรวมกลุ่มให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยปีงบประมาณ ๒๕๕๑ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยส่วนไทยนิทัศน์ สถาบันวัฒนธรรมศึกษา ได้ดำเนินโครงการจัดทำแผนที่แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ๗๕ จังหวัด และแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเครือข่าย ดำเนินการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในพื้นที่ และสร้างเว็บเพ็จ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ลงทางเว็บไซด์ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในประเทศไทยให้เยาวชนและประชนไทย และผู้ดำเนินงานแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมได้ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันนำไปสู่การเสริมสร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อสร้างฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสำหรับให้บริการสืบค้นแก่เยาวชนและประชาชนไทย และเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในประเทศไทย
๒. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม อันนำไปสู่การเสริมสร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
ความหมายของแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กำหนดความหมายของคำว่า แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ไว้ในหนังสือเกณฑ์มาตรฐานและแนวทางการดำเนินงานแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ดังนี้
แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม หมายถึง แหล่ง หรือ ที่รวม ซึ่งอาจเป็นสถานที่หรือศูนย์รวมที่ประกอบด้วยความรู้ สาระความรู้ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตวัฒนธรรม ซึ่งมีคุณค่าของคนในชุมชน เป็นความรู้ทางวัฒนธรรมที่มีการปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมอยู่เสมอโดยคนในชุมชน และมุ่งเน้นที่จะถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจให้กับคนทั้งในท้องถิ่นของตนเอง และคนในสังคมภายนอก ได้เข้าใจถึงชีวิตวัฒนธรรมของสังคมนั้น
|